สรุป

                การจัดการศึกษาปฐมวัยในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงต้นรัชกาลที่ 5 เป็นการจัดการศึกษาก่อนมีระบบโรงเรียน คือไม่มีโรงเรียน ไม่มีหลักสูตร สถานที่เรียนหนังสือของเด็กที่เป็นลูกชาวบ้านทั่วไปคือวัด ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีโรงเรียนสำหรับเจ้านายเชื้อพระวงศ์และขยายการตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรในปี พ.ศ. 2441 ได้มีโครงการศึกษาฉบับแรกขึ้น ในยุคนี้จึงจัดว่าเป็นยุคการศึกษาแบบมีระบบโรงเรียน การศึกษาปฐมวัยในสมัยนี้จัดอยู่ในรูปของชั้นมูลศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จัดในโรงเรียนประถมศึกษา มุ่งสอนให้เด็กมีความรู้เพื่อเรียนต่อในชั้นประถมศึกษา
                ในสมัยรัชกาลที่ 6 การจัดการศึกษาตามแบบของเฟรอเบลและมอนเตสซอรี่เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยโรงเรียนราษฎร์ที่มีชื่อเสียงเป็นผู้นำมาเผยแพร่ ในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (รัชกาลที่ 7) เป็นต้นมา รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาปฐมวัยเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ. 2483 ได้ตั้งโรงเรียนอนุบาลลอออุทิศขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดโรงเรียนอนุบาลและได้ขยายโรงเรียนอนุบาลสู่ภูมิภาคจนครบทุกจังหวัด โดยมีการผลิตครูอนุบาลเพื่อสนับสนุนการขยายโรงเรียนการศึกษาปฐมวัยของไทยจึงเริ่มมุ่งเน้นที่การเตรียมความพร้อมเด็กมากกว่าการเรียนอ่านเขียนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น