การศึกษาปฐมวัยสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง



การศึกษาปฐมวัยสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
               
ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า คณะราษฎร์นำมาสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาปฐมวัยหลายประการ ดังนี้
1.              นโยบายและแนวคิด
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 ซึ่งมีการกำหนดจัดชั้นเรียนใหม่โดยจัดชั้น ก ข ก กา หรือที่เรียกว่าชั้นประถม เดิมปั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ส่วนประถมศึกษาปีที่ 1,2,3 เดิม ให้เรียกเป็นประถมศึกษาปีที่ 2,3,4 ตามลำดับจนกระทั่งปี พ.ศ. 2479 ได้กล่าวถึงการศึกษาปฐมวัยในรูปของคำว่ามูลศึกษา ซึ่งได้กำหนด มูลศึกษาเป็นการศึกษาสำหรับเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ (อายุ 5-7 ปี) และการศึกษาเบื้องแรก มีลักษณะคล้ายคลึงกับแผนการศึกษาชาติฉบับต่อมา คือแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2494 ในแผนการศึกษาฉบับนี้รวมแนวคิดเรื่องการศึกษาปฐมวัย หรือที่เรียกว่ามูลศึกษา ซึ่งเดิมแบ่งเป็นโรงเรียนบุรบท โรงเรียน ก ข นโม และกินเดอกาเตน เข้าไว้ด้วยกัน และเปลี่ยนคำว่า มูลศึกษาเป็น อนุบาลโดยระบุว่า การศึกษาชั้นอนุบาลได้แก่การอบรมกุลบุตรกุลธิดาก่อนการศึกษาภาคบังคับมีหลักการให้อบรมนิสัย และฝึกประสาทไว้ให้พร้อมที่จะรับการศึกษาชั้นประถมศึกษาต่อไป และกำหนดอายุของเด็กต่ำกว่า 8 ปีลงมา หรือในระหว่างอายุ 3-7 ปี
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การศึกษาปฐมวัย หรือการศึกษาวัยก่อนเกณฑ์บังคับเรียนในสมัยนั้นยังไม่ได้กำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมความพร้อมแก่เด็ก หากแต่มุ่งเตรียมให้เด็กอ่านออกเขียนได้เป็นสำคัญ

2.              การจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกและการขยายโรงเรียนอนุบาลรัฐ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การศึกษาปฐมวัยได้รับความสนใจมากขึ้น นักการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับนี้ตระหนักถึงความสำคัญของวัยเด็ก จึงจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยนี้กว้างขวางขึ้นมีการเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลของรัฐ และขยายโรงเรียนไปยังส่วนภูมิภาค สรุปได้ดังนี้ (อารี รังสินันท์, 2539)
2.1  การเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกและการขยายโรงเรียนอนุบาลของรัฐ ดังที่กระทรวงธรรมการและผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาปฐมวัยจึงได้เริ่มเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลศึกษาขึ้น ได้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลของกระทรวงขึ้นในปี พ.ศ. 2480 ประกอบด้วย
1) นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา
2) ม.ล.มานิจ ชุมสาย
3) นางจำนง เมืองแมน (นางพิณพาทพิทยเพท)
ในระหว่างปี 2480-2482 กระทรวงธรรมการได้จัดส่งครูหลายท่านไปศึกษาและดูงานการศึกษาปฐมวัยในประเทศญี่ปุ่น อาทิ นางจิตรา  ทองแถม ณ อยุธยา  ไปศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นเวลา 6 เดือน และได้กลับมาจัดเตรียมการดำเนินงานโรงเรียนอนุบาล และได้ส่งนางสาวสมถวิล  สวยสำอาง (นางสมถวิล สังขะทรัพย์) ไปศึกษาด้านการศึกษาปฐมวัย ณ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2482 กระทรวงธรรมการได้คัดเลือกครู 3 คน คือนางสาวสวัสวดี วรรณโกวิท  นางสาวเอื้อนทิพย์ วินิจฉัยกุล (นางเอื้อนทิพย์ เปรมโยธิน) และนางสาวเบญจา ตุงคะสิริ (คุณหญิงเบญจา แสงมะลิ) ไปศึกษาการอนุ ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งท่านเหลานี้ก็ได้กลับมาเป็นผู้นำทางการศึกษาปฐมวัยของไทยในเวลาต่อมา
ตัวอาคารโรงเรียนละอออุทิศ
2.2  การเปิดโรงเรียนอนุบาล เมื่อกระทรวงธรรมการได้มีการเตรียมการพ้อมทั้งในด้านบุคลากรและอื่นๆ จึงได้เปิดโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของรัฐขึ้นในจังหวัดพระนครชื่อว่าโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ได้รับเงินบริจาคในกองมรดกของ น.ส.ละออ ลิ่มเซ่งไถ่ สำหรับสร้างอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศได้เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2483 ในสังกัดกรมการฝึกหัดครูซึ่งมี ม.ล.มานิจ ชุมสาย เป็นหัวหน้ากองฝึกหัดครูในขณะนั้น และมีนางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา เป็นครูใหญ่
โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศที่จัดทั้งขึ้นในระยะแรกนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองการจัดการการอนุบาลศึกษาและเพื่อทดลองความสนใจความเข้าใจประชาชนในเรื่องการศึกษาปฐมวัย รับนักเรียนชายหญิงที่มีอายุระหว่าง 3 ปีครึ่งไปจนถึง 6 ปี หรือจนเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา
2.3 ความมุ่งหมายและวิธีการอบรม
2.3.1 เพื่อเตรียมสภาพจิตใจของเด็กให้พร้อมที่จะรับการศึกษาในชั้นต่อไป หัดให้ใช้เครื่องมือต่างๆ ในการเรียน การเล่น และการประดิษฐ์ อบรมให้เป็นคนช่างคิดช่างทำ ขยันไม่อยู่นิ่งเฉย และเป็นคนว่องไวกระฉับกระเฉง
2.3.2  เพื่ออบรมเด็กให้เป็นคนมีความสังเกต มีไหวพริบ เฉลียวฉลาด คิดหาเหตุผลให้เกิดความเข้าใจด้วยตนเอง มีความพากเพียร พยายาม อดทนไม่จับจด
2.3.3 เพื่ออบรมให้เป็นคนพึ่งตนเอง สามารถทำ หรือปฏิบัติอะไรได้ด้วยตนเอง เด็กในโรงเรียนอนุบาลนี้จะต้องอบรมให้ช่วยตัวเองให้มากที่สุด โดยไม่มีพี่เลี้ยงคอยตักเตือน หรือคอยรับทำให้ ครูเป็นแต่ผู้คอยดูแลห่างๆ เท่านั้น
2.3.4 เพื่อหัดมารยาทและศีลธรรมทั้งในส่วนตัวและการปฏิบัติต่อสังคมและหัดมารยาทในการนั่ง นอน เดิน และรับประทาน ฯลฯ หัดให้เป็นคนสุภาพเรียบร้อย ฝึกนิสัยให้เป็นคนมีศีลธรรมอันดี มีจิตใจเข้มแข็ง มีระเบียบ รักษาวินัย มีความสามัคคีซึ่งกันและกัน
2.3.5 เพื่อปลูกฝังนิสัยทางสุขภาพอนามัย รู้จักระวังสุขภาพของตน เล่นและรับประทานอาหารเป็นเวลา รู้จักรักษาร่างกายให้สะอาด และแข็งแรงอยู่เสมอ
2.3.6 เพื่ออบรมให้เด็กเป็นคนร่าเริง มีการสอนร้องเพลง และการเล่นที่สนุกสนานทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นนักสู้ซึ่งเต็มไปด้วย ความรื่นเริงเบิกบานและคิดก้าวหน้าเสมอ

นับได้ว่าการศึกษาปฐมวัยระยะนี้มุ่งเตรียมเด็กให้พร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การจัดกิจกรรมต่างๆส่งเสริมเด็กให้เป็นผู้เรียนที่คล่องแคล่วว่องไว เลือกและลงมือปฏิบัติกิจกรรมอย่างอิสระ มีครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะและคอยดูแลช่วยเหลือ จัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่เออำนวยให้เด็กได้พัฒนาอย่างราบรื่นเป็นขั้นตอนและพัฒนาอย่างเต็มที่ถึงขีดสูงสุด
2.4 การจัดการเรียนการสอน โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศได้จัดการเรียนการสอนตามแนวคิดของ
เฟรอเบลบิดาแห่งการจัดการศึกษาปฐมวัยและใช้การสอนแบบ Play Way Method หรือเรียนปนเล่น นำเกมการร้องรำ การละเล่น ดนตรี เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเรียนของเด็กและการส่งเสริมให้เด็กลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
สำหรับการสอนอนุบาลกำหนดไว้ 2 ปี คือชั้นอนุบาลปีที่ 1 และชั้นอนุบาลปีที่ 2 เด็กที่เพิ่งเข้าเรียนและยังเล็กพยายามจัดเล่น การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน จนเด็กค่อยคุ้นเคยจึงเพิ่มความรู้ให้มากขึ้นเพื่อเตรียมตัวเด็กเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาต่อไป การสอนทุกวิชาครูหัดให้เด็กสังเกต คิด สนทนา เล่านิทาน และใช้วิธีสอนที่ยั่วยุให้เด็กอยากเรียนรู้ และการเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน

2.5  อัตราเวลาเรียน ในการเรียนชั้นอนุบาล ระยะเวลาเรียนสั้นแต่ส่งเสริมให้เด็กได้พักผ่อนให้มาก และประกอบกับความสนใจของเด็กสั้นจึงไม่ควรให้เด็กเรียนหรือทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดนานเกินไป แต่ควรเปลี่ยนวิชาและกิจกรรมหรือการเล่นอยู่เสมอ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น